top of page

Narai Ratchaniwet Palace

Construction of Narai Ratchaniwet Palace was commenced during the

rule of foreigner-friendly King Narai of Ayutthaya in 1665 and completed 12 years later.

โบราณสถาน พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209 มีข้อสันนิษฐาน
ที่สำคัญ คือ ใน พ.ศ. 2207 เกิดกรณีพิพาทระหว่างฮอลันดากับไทย ฮอลันดาได้นำเรือมาปิดปากอ่าวไทยและบังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาเสียเปรียบทางการค้า
และเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำใหญ่ ไม่ห่างจากทะเล และด้วยเหตุผลทางการเมืองภายใน
ประเทศ พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรี ใช้เป็นราชธานีที่สอง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำใหญ่ มีป่า ภูเขา สัตว์ป่าชุกชุมทำให้
ต้องอัธยาศัยในการเสด็จเข้าป่าล่าสัตว์ล้อมจับช้างในบริเวณป่าใกล้เมืองลพบุรี พระองค์จึงรู้สึกปลอดภัยเมื่อประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี 

พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

ข้อมูลทั่วไป

พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก สมเด็จพระ นารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีเกือบตลอดปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ 
     เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้างจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" 
     พระราชวังหันเข้าหาตัวเมือง ด้านหลังติดแม่น้ำลพบุรี กำแพงพระราชวังก่ออิฐถือปูน กำแพงชั้นนอกสูงใหญ่โดยรอบ มีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพงตลอดตรงกึ่งกลางกำแพงมีป้อมปืนอยู่ 7 ป้อม ตรงฐานของป้อมปืนแต่ละป้อมเจาะเป็นช่องกลมเพื่อเสียบปืนใหญ่ กำแพงด้านในเจาะเป็นช่องสำหรับตามประทีป มีประตูทางเข้า 7 ประตู มีลักษณะโค้งแหลม ปัจจุบันเปิดให้เข้าได้เฉพาะประตูด้านหน้า ทางทิศตะวันออกเท่านั้น 

พระที่นั่งและตึกที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

พระที่นั่งจันทรพิศาล

เป็นพระที่นั่งซึ่งตรงกับบันทึกชาวฝรั่งเศสว่า เป็นหอประชุมองคมนตรี เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้

มีลักษณะคล้ายโบสถ์หรือ วิหารด้านหน้ามีมุขเด็จ เพื่อเสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้าตรงชาลาหน้าพระลาน

เมื่อพระราชวังถูกทิ้งร้าง เครื่องบนพระที่นั่งปรักหักพัง เหลือแต่ผนัง ได้รับการซ่อมแซมให้สมบูรณ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท 

เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงทรงสูง มียอดแหลมทรงมณฑป

ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชรเป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถาร

กับผู้เข้าเฝ้า ฝาผนังประดับด้วยกระจกเงาซึ่งนำมาจากประเทศฝรั่งเศส

ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ทางด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม

ส่วนตัวมณฑปที่อยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย

คือซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังพระด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่าง

เจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับตามประทีป

ในเวลากลางคืน 

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ 

เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าพระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ ใช้เป็นที่สรงสนานของพระเจ้า แผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อ พ.ศ. 2231 ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานรากเท่านั้น 

ตึกพระเจ้าเหา

ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นลักษณะสถาปัตยกรรม สมัยสมเด็จพระนารายณ์ชัดเจนมาก ภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่บันทึกของชาว
ฝรั่งเศสระบุว่าเป็นวัด ตึกหลังนี้อาจเป็นหอพระประจำพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อว่า "พระเจ้าเหา" ประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านสกัดสูงยันอกไก่ ตรงจั่วเจาะเป็นช่องโค้งแหลม มีกำแพงแก้วเจาะเป็นช่องสำหรับวางตะเกียงล้อมรอบตึก 

ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง

ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยานเป็นตึกชั้นเดียวขนาดกระทัดรัด รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบสามด้านเป็นรูปตัวยู
ภายในคูน้ำมีน้ำพุพุ่งเรียงรายราว 20 แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากฝรั่งเศส ณ สถานที่แห่งนี้

ใน พ.ศ. 2228 และพ.ศ.2230 

สิบสองท้องพระคลัง (พระคลังศุภรัตน์ )

เป็นอาคารชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ระหว่างถังเก็บน้ำประปาและตึกเลี้ยงรับแขกเมือง สร้างขึ้นเป็นเรือนยาวสองแถวเรียง ชิดติดกันอย่างมีระเบียบ เครื่องบนเป็นไม้มุงกระเบื้องกาบ ประตูและหน้าต่างเป็นแบโค้งแหลม อาคารข่อนค้างทึบ มีถนนผ่ากลางจำนวน 12 ห้องเข้าใจว่าเป็น คลังเก็บสินค้าเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ 

พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

โรงช้างหลวง

ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพง เขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐาน ปรากฏให้เห็นประมาณ 10
โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้านายหรือขุนนางสำคัญพระที่นั่งและตึกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ถังเก็บน้ำ

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาลีได้ช่วยกันสร้างระบบระบายน้ำ ด้วยท่อดินเผาเพื่อลำเลียงน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็น
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองลพบุรี มาใช้ในพระราชวังและในเมืองลพบุรี ถังเก็บน้ำในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ คงทำไว้เพื่อกักน้ำไว้จ่ายในพระที่นั่งและตึกต่าง ๆ ในพระราชวัง 

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ใน พ.ศ.2405 ในพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์ ณ
เมืองลพบุรี ประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ ดังนี้ คือ มุขด้านซ้ายมือ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร มุขด้านขวาคือ พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งองค์ขวางตรงกลางคือ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ด้านหลังสุดเป็นอาคารสูง 3 ชั้น คือพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ 

หมู่ตึกพระประเทียบ

ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้าง
ขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในผู้ตามเสด็จ 

หมู่ตึกพระประเทียบ
หมู่ตึกพระประเทียบ
ทิมหรือที่พักของทหารรักษาการณ์

ทิมหรือที่พักของทหารรักษาการณ์

เป็นศาลาโถง อยู่ข้างประตูทางข้าเขตพระราชฐานชั้นกลางทั้งสองด้าน

ใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ 

 ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ แบ่งอาคารจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุเป็น ๔ อาคาร

 

๑. พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

เป็นตึก ๓ ชั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(รัชกาลที่ ๔) โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งนี้และหมู่ตึกต่างๆ เพื่อใช้ในการแปรพระราชฐาน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพัฒนาการเมืองลพบุรี ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยปัจจุบัน ดังนี้

ชั้นที่ ๑
จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่บอกเล่าเรื่องราวเมืองลพบุรีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ราว 3,500 ปี ที่แล้ว)ต่อเนื่องมาจนถึงวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นประวัติศาสตร์ไทย และการเริ่มติดต่อ-สัมพันธ์กับดินแดนโพ้นทะเล เป็นต้น

 

ชั้นที่ ๒
จัดแสดงนิทรรศการลำดับพัฒนาการเมืองลพบุรีเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากชั้นที่ ๑ ซึ่งต่อจากช่วงวัฒนธรรมทวารวดี เข้าสู่ช่วงความเจริญของวัฒนธรรม-อิทธิพลศิลปะเขมรในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 จัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเทวรูปต่างๆ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา จัดแสดงงานศิลปกรรมและงานช่างในสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

ชั้น ๓
เดิมเป็นห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จัดแสดงเหมือนครั้งที่ยังประทับอยู่ มีพระแท่นบรรทม ฉลองพระองค์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญเงินต่างๆ เครื่องแก้ว เครื่องประกอบโต๊ะพระกระยาหารที่มีตราประจำพระองค์ (มงกุฎ) เป็นต้น

 

๒. พระที่นั่งจันทรพิศาล

๓. หมู่ตึกพระประเทียบ

๔. พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่


ห้องภาคกลางประเทศไทย พ.ศ. ๘๐๐ - ๑๕๐๐

รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวารวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยี และ
การดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อถือ หลักฐานที่จัดแสดงได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา เหรียญตราประทับดินเผา จารึกภาษาบาลี สันสกฤต และรูปเคารพต่างๆ 

ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร - ลพบุรี จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘

โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางประทานอภัย เป็นต้น

 

ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย

จัดแสดงศิลปกรรมที่พบตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ ได้แก่ ศิลปะแบบหริภุญไชย
ศิลปะล้านนา ศิลปะสมัยลพบุรี เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพิมพ์ และพระพุทธรูปสำริดสมัยต่างๆ 

ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๔

ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้น และไม้แกะสลักต่างๆ 

ห้องศิลปะร่วมสมัย จัดแสดงภาพเขียน และภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย

ห้องศิลปะร่วมสมัย จัดแสดงภาพเขียน และภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย

ห้องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ได้แก่ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีรูปมงกุฎ ซึ่งเป็นพระราช ลัญจกรประจำพระองค์ เป็นต้น

  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์   

เปิดบริการ วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

 

โบราณสถานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ 

เปิดบริการวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๓๐ น.

 

หากต้องการ เข้าชมเป็นหมู่คณะ พร้อมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญบรรยาย
ติดต่อ 0868103413

bottom of page