top of page

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

วีรบุรุษของชาวลพบุรี

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนามเดิมว่า แปลก ขิตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 จบการศึกษาโรงเรียนนายร้อย ทหารปืนใหญ่ และเดินทางไปศึกษาวิชาการทหารปืนใหญ่เพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดินทางกลับมาได้ร่วมกับคณะราษฏรทำการ เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีบทบาทอย่างสูงในการอภิวัฒน์ (Reforn) สังคมไทยให้มีความทันสมัยพ้นจาก สภาพความล้าหลัง​

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เมืองลพบุรีหลายประการ เช่น การวางผังเมืองลพบุรีตามแบบยุโรป ( ปัจจุบันผังเมืองแบบวงเวียนคงมีเหลือให้เห็นที่เมืองลพบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ) การสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทหาร สร้างนิคมสร้างตนเอง เป็นต้น ประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีจึงให้การยอมรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าเป็นวีรบุรุษของชาวลพบุรี

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2481-2487 และครั้งที่ 2 ระหว่าง  2491-2500 จอมพล ป. พิบูลสงครามมีบทบาทการเมืองไทยที่สำคัญทั้ง 2 สมัยและเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย การอภิวัฒน์สังคมไทยตามแนวดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะใช้นโยบายชาตินิยม เข้ามาประสานความร่วมมือจากประชาชน อาทิ ส่งเสริมกิจกรรมของกองทัพ ส่งเสริมความเป็นชนชาติไทย เน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ ประกาศรัฐนิยมเพื่อปฏิวัติวัฒนธรรมของสังคมไทยเสียใหม่เช่น เรื่องภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ การกินอยู่ การดนตรี การละเล่น การแต่งกาย คตินิยม เป็นต้น ดังนั้นจึงถือว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของไทย 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้หลายประการ โดยเป็นจอมพลคนแรกของประเทศไทยอีกด้วย เมื่อขอพระราชทานยศให้กับตนเอง ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า เพราะท่านต้องการทำสงครามจิตวิทยากับทางกองทัพญี่ปุ่น และเมื่อหลังสงครามโลกแล้ว ท่านต้องติดคุกในฐานะอาชญากรสงคราม และยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด โดยกลับไปอยู่บ้านที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยทำไร่ถั่วฝักยาว แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2491 ท่านก็ได้หวนกลับมาคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ ซึ่งคราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย จึงได้รับฉายาว่า "นายกฯ ตลอดกาล"

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับอีกฉายาว่า "จอมพลกระดูกเหล็ก" เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง แม้กระทั่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ที่ท่านถูกจี้ลงเรือศรีอยุธยา ถูกทิ้งระเบิดผ่านเตียงที่ท่านเคยนอนอยู่อย่างเฉียดฉิว ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับร้อย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน คือ ในเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อถูกพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญี่ปุ่น เพราะเป็นผู้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่อนิจกรรม


จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เมืองลพบุรีหลายประการเช่น การวางผังเมืองลพบุรีตามแบบยุโรป ( ปัจจุบันผังเมืองแบบวงเวียนคงมีเหลือให้เห็นที่เมืองลพบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ) การสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทหาร สร้างนิคมสร้างตนเอง เป็นต้น ประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีจึงให้การยอมรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าเป็นวีรบุรุษของชาวลพบุรี

bottom of page