top of page

“อาชาบำบัด” ทางเลือกสู่การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

สาเหตุที่ “ม้า” สามารถช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการได้เพราะว่าม้านั้นสามารถสื่อสารและรับรู้ความรู้สึกของผู้ขี่ได้ และจะตอบสนองอารมณ์นั้นๆ ถ้าผู้ขี่แสดงอาการก้าวร้าวออกมา ม้าก็จะแสดงพฤติกรรมที่คล้ายกันตอบกลับไป แต่ถ้าผู้ขี่นั่งสบายๆขี่อย่างมั่นใจ ม้าก็จะผ่อนคลายและเชื่อฟังคำสั่งอย่างดี นั่นทำให้เด็กๆ สามารถรับรู้และค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของตนเองไปอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว
       
เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นเมื่อขึ้นไปอยู่หลังม้า ก็จะต้องเรียนรู้ที่จะทรงตัวเวลาม้าเดิน ทำให้เกิดสมาธิ รู้จักควบคุมทั้งร่างกายและอารมณ์ของตัวเอง ไม่แสดงนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา และม้าที่กองพันสัตว์ต่างนี้ได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี เชื่อฟังคำสั่งและคุ้นเคยกับมนุษย์ จึงเหมาะต่อการใช้บำบัดเด็กๆ 

ในแต่ละวันจะเริ่มจากให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ล้อมวงเพื่อทำออกกำลังกายเบาๆ พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อฝึกการพูดโต้ตอบ และเพื่อให้ครูพี่เลี้ยงได้เรียนรู้พฤติกรรมของเด็กๆ แต่ละคนเพื่อได้นำกลับมาวิเคราะห์พัฒนาการเป็นระยะ
       
จากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ให้เด็กๆ ได้ทำความคุ้นเคยกับม้าที่ตนเองต้องขี่ เบื้องต้นพบปัญหาที่เด็กๆ กลัวและไม่กล้าสัมผัสม้าเพื่อทำความคุ้นเคย แต่กลับเป็นเจ้าม้าแสนรู้เองที่ดูจะสนอกสนใจเด็กๆ และอยากเล่นด้วย ไม่นาน กระบวนการเรียนรู้โดยการสัมผัสและรับรู้ถึงอารมณ์ของม้าซึ่งเป็นการบำบัดเบื้องต้นก็เกิดขึ้น หลังจากที่เด็กๆ มีความคุ้นเคยกับม้าแล้วก็จะเป็นการฝึกสมาธิและการทรงตัวบนหลังม้า และเพื่อความปลอดภัยก็จะจัดให้มีครูฝึกประจำเด็กแต่ละคน และมีผู้ช่วยอีก 3 คน คนจูงม้าหนึ่งคน อีกสองคนจะเดินขนาบข้างม้าคอยประคอง ดูแล และฝึกเด็กไปพร้อมๆ กับผู้ปกครองที่เดินไปด้วยตลอดการบำบัด 

สำหรับเด็กคนไหนที่เบื้องต้นยังไม่สามารถทรงตัวได้เลยก็จะต้องเพิ่งพี่เลี้ยงเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ตลอดเวลาการฝึกนั้นเด็กๆ ต้องฝึกทรงตัวด้วยท่าทางต่างๆ บนหลังม้า เมื่อพวกเขาเริ่มมีสมาธิมากยิ่งขึ้น การทรงตัวก็จะทำได้ดีขึ้น และเมื่อจิตใจจดจ่ออยู่กับการทรงตัวบนหลังม้า พฤติกรรมเช่น การทำซ้ำๆ ในลักษณะเดิม หรือกรีดร้องโดยไม่มีสาเหตุ ก็จะค่อยๆ หายไป และสิ่งที่ได้หลังจากการบำบัดนั้น ผู้ปกครองทุกท่านต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่าพัฒนาการของเด็กๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
       
แต่พัฒนาการจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนที่จะตอบสนอง อย่างเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น พูดไม่เรียงประโยค ร้องโวยวาย เอาแต่ใจตัวเอง ก็สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น รับฟังเหตุผล สมาธิดีขึ้น พูดสื่อสารได้ชัดเจน การพูดซ้ำๆ ลดลง และกลายเป็นคนที่รักสัตว์ และในที่สุดพวกเขาก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

นับว่าเป็นอีกศาสตร์การรักษาพยาบาลหนึ่งที่ประเทศไทยเรานั้นมีศักยภาพที่ดี เพียงแต่ยังหลายภาคส่วนยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญอย่างจริงจัง แต่ถ้าเราลองย้อนไปดูตัวเลขจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จากจำนวนประชากรของประเทศไทย จำนวน 62 ล้านคน มีประชากรกลุ่มออทิสติกประมาณ 6 ใน 1000 หรือร้อยละ 0.6 ของประชากรทั้งหมด อาจจะมองว่าเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ถ้านับรวมกันทั่วโลกจำนวนเด็กออทิสติกน่าจะมากขึ้นจนน่าใจหาย 

วัลลภาฟาร์ม (Wanlapa Farm Horse riding and Farmstay) 
ที่ตั้ง: 69 / 9 หมู่ 9 ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี 15160
สำรองห้องพักโทรศัพท์: โทรศัพท์: 082 – 7175633 083 – 6773053

bottom of page